HomeAbout usNewsPaperPresentationLibraryGraduate School at KU
 
 
 
ออกภาคสนามสำรวจการพิบัติบริเวณลุ่มน้ำยม
 
บทนำ
ลุ่มน้ำยมเป็นลุ่มน้ำที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทยมีขนาดพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 23,616 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 11 จังหวัด ลักษณะของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในบริเวณลุ่มน้ำยมจะมีทั้งปัญหาภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำท่วม น้ำแล้งทุกปี โดยจะเกิดน้ำท่วมและน้ำหลากเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก และจะเกิดปัญหาน้ำแล้งเมื่อถึงฤดูร้อน แต่จะมีปัญหาที่เกี่ยวกับภัยพิบัติอันเกิดจากแผ่นดินถล่มน้อยมากโดยส่วนใหญ่จะเกิดพร้อมกับการเกิดน้ำหลาก แต่ก็สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นได้อย่างมากมาย ดังนั้นลุ่มน้ำยมจึงมีความเหมาะสมในการใช้เป็นพื้นที่ที่ใช้เป็นกรณีศึกษาเนื่องจากมีภัยพิบัติที่เกิดขึ้นครบทั้งน้ำท่วม น้ำแล้งและแผ่นดินถล่ม และยังมีขนาดพื้นที่ของลุ่มน้ำที่ไม่กว้างมากนัก
 
วัตถุประสงค์ของการศึกษา
   วัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้ต้องการใช้พื้นที่ลุ่มน้ำยมเป็นกรณีตัวอย่างในการศึกษาด้านต่างๆ เช่น การเตรียมการป้องกันและแก้ไขในกรณีเกิดแผ่นดินถล่ม การให้ความช่วยเหลือกับประชาชนที่ประสบเหตุ และต้องการรวบรวมองค์ความรู้และผลการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินถล่ม รวมทั้งวิธีการปฏิบัติ แผนงานและโครงการของหน่วยงานต่าง ๆในลุ่มน้ำยม โดยจะทำการประมวลผลสถานภาพขององค์ความรู้และงานวิจัยในแต่ละด้าน ศึกษาและวิเคราะห์ด้านองค์กรและการจัดการ รวมทั้งทำการวิเคราะห์เนื้อหาที่ได้ดำเนินการมาจนปัจจุบัน
   สอบถามและรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะด้านการจัดการภัยจากแผ่นดินถล่ม จากผู้มีประสบการณ์ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ปฏิบัติงานทั้งภาครัฐและเอกชนภายในลุ่มน้ำ รวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำมาจัดทำข้อสรุปที่สมบูรณ์และนำไปสู่การปฏิบัติ
 
ขอบเขตงานวิจัย
เพื่อให้การศึกษาบรรลุเป้าหมายได้สมบูรณ์ภายในกรอบของเวลาที่กำหนดจึงได้มีขอบเขตการศึกษาดังนี้
1. ครอบคลุมลักษณะของภัยธรรมชาติดินถล่มที่เกี่ยวข้องกับฝนตกหนักและน้ำหลาก เท่านั้น ไม่รวมถึงการพิบัติของลาดดินลักษณะอื่นๆ เช่น ลาดตลิ่งแม่น้ำ งานขุด งานคันดิน งานเขื่อนหรืออื่นๆที่มนุษย์ทำขึ้น ลาดดินพิบัติจากแผ่นดินไหว เป็นต้น
2.พื้นที่และข้อมูลที่ศึกษาจะจำกัดอยู่เฉพาะส่วนที่มีเอกสารที่เผยแพร่ต่อสาธารณะหรือได้รับความยินยอมจากหน่วยงานที่เป็นเจ้าของผลงานนั้นๆ
3. การศึกษาวิจัยนี้ไม่ได้ทำการศึกษาลงลึกในรายละเอียดทางด้านวิศวกรรม หรือ การออกแบบทางด้านวิศวกรรม (ไม่รวมถึงการสร้างแผนที่เสี่ยงภัยโดยแบบจำลองคณิตศาสตร์ซึ่งต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่าย)
4. ผลสรุปของการศึกษาจะเป็นผลสรุปที่ได้จากการสอบถามชาวบ้านผู้ประสบภัย ผู้บริหารระดับท้องถิ่น ผู้บริหารระดับอำเภอและผู้บริหารระดับสูงภายในจังหวัด และนำข้อมูลที่ได้มาหาข้อสรุปต่อไป
 
สภาพโดยทั่วไปของลุ่มน้ำยม
   ลุ่มน้ำยมเกิดจากต้นน้ำในเทือกเขาผีปันน้ำในเขตอำเภอปง และอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา อยู่ทางภาคเหนือของประเทศขนาดพื้นที่ ลุ่มน้ำประมาณ 23,616 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,438 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 11 จังหวัด ให้การระบายน้ำจากทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือลงสู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไหลผ่าน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา เป็นพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงเป็นส่วนใหญ่แล้วไหลผ่านจังหวัดแพร่ สุโขทัย โดยผ่านพื้นที่อำเภอศรีสัชนาลัย ลงสู่ที่ราบลุ่ม อำเภอ กงไกรลาศ และไหลไปทางทิศตะวันออก เข้าสู่เขตจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิจิตร บรรจบกับแม่น้ำน่านที่พื้นที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ รวมความยาวของแม่น้ำประมาณ 550 กิโลเมตร สภาพพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบนเป็นเทือกเขาสูงชัน มีระดับความสูงอยู่ระหว่าง 280 - 360 เมตร ที่ระดับน้ำ ทะเลปานกลาง (รทก.) มีความลาดชัน 1:310 แล้ว ค่อย ๆ ลงมาทางตอนใต้ตามลำน้ำ จนถึงปากแม่น้ำยม ระดับความสูง 20 - 50 เมตร (รทก.) แล้วไหลไปรวมกับแม่น้ำน่าน ที่จังหวัดนครสวรรค์เกิดเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง คือ บริเวณใต้จังหวัดสุโขทัยลงมา มีการใช้พื้นที่ทำ การเกษตรโดยปลูกข้าวเป็นพืชหลัก ลำน้ำสาขาที่สำคัญ ได้แก่ แม่น้ำยม แม่น้ำควน น้ำปี้ แม่น้ำงาว น้ำแม่คำมี น้ำแม่ต้า ห้วยแม่สิน ห้วยสะท้อ น้ำแม่มอก และน้ำแม่รำพัน ความยาวของลำน้ำประมาณ 1,340 กิโลเมตร(รวมทุกลำน้ำ) ลุ่มน้ำนี้ไม่มีแหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่มีแต่ แหล่งเก็บน้ำขนาดกลาง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่สอง อ่างเก็บน้ำแม่หมอก และอ่างเก็บน้ำห้วยท่าแพ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีประมาณ 1,100 มิลลิเมตร มีประชากรในพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 1,752,780 คน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 44 นาข้าวร้อยละ 35.9 และเป็นพืชไร่ร้อยละ 14.8
   การพิบัติของลาดดินเนื่องจากฝนตกหนักบริเวณลุ่มน้ำยมที่พบ จะเกิดบริเวณเทือกเขาศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นเทือกเขาที่กั้นระหว่างอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ กับอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย โดยมีแนวทอดยาวในทิศตะวันตกเฉียงใต้และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เทือกเขาศรีสัชนาลัยนี้เป็นแหล่งต้นน้ำของลำห้วยขนาดเล็กๆ ที่สำคัญหลายสายได้แก่ ลำห้วยหินสัก ลำห้วยแม่กะต๋อมที่ไหลผ่านบริเวณหมู่บ้านโฮ่ง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด สภาพเทือกเขาศรีสัชนาลัยมีการพังทลายของดินและต้นไม้อย่างรุนแรงตลอดแนวเขา เทือกเขาศรีสัชนาลัยนอกจากจะเป็นแหล่งต้นน้ำสำหรับห้วยต่างๆ ที่ไหลลงอำเภอวังชิ้นแล้วยังเป็นแหล่งต้นน้ำของลำห้วยสะท้อ ซึ่งไหลลงสู่อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสูโขทัยอีกด้วย และกระแสน้ำที่ไหลลงมาตามลำห้วยสะท้อนี่เอง ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่หมู่บ้านต่างๆ ในตำบลแม่สิน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
 
แสดงพื้นที่ป่า ลุ่มน้ำสรอย - สะท้อ
พื้นที่ลุ่มน้ำยม
วิธีการศึกษา
วิธีการศึกษาจะเป็นการรวบรวมสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เกิดการพิบัติ แนวทางการจัดการภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินถล่ม จะได้มาจากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในจุดศึกษาต่างๆ โดยการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับผู้บริหารท้องถิ่น เช่น กำนัน นายอำเภอ ผู้บริหารระดับจังหวัด และชาวบ้านผู้ประสบภัย แล้วนำข้อมูลที่ได้มาทำการสังเคราะห์และสรุปผล โดยมีรายละเอียดของพื้นที่ที่ได้ทำการศึกษาดังนี้
1. พื้นที่ดูงาน อ. ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
- ฟังการบรรยายสรุปจากนาย จักริน ปิ่นวงศ์ นายอำเภอศรีสัชนาลัย เพื่อรับทราบปัญหา สาเหตุและแนวทางการแก้ไข
- ดูสถานที่ที่เกิดการพิบัติบริเวณ บ้านแม่สิน ตำบลแม่สิน อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
- สอบถามข้อมูลขณะเกิดเหตุกับชาวบ้าน
2. พื้นที่ดูงาน อ. วังชิ้น จ.แพร่
- ฟังการบรรยายสรุป จากนาย สมนึก เพชรรัตน์ ปลัดอำเภออาวุโส และผู้บริหารระดับท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. อำเภอวังชิ้น จ.แพร่ เพื่อรับทราบปัญหา สาเหตุและแนวทางการแก้ไข
- ดูสถานที่ที่เกิดการพิบัติบริเวณ บ้านโฮ่ง หมู่ 5 ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่
 
ผลการศึกษา
   # การพิบัติบริเวณลุ่มน้ำสะท้อ อ.ศรีสัชนาลัย จ. สุโขทัย
   # การพิบัติบริเวณลุ่มน้ำสรอย อ.วังชิ้น จ. แพร่
 
This page..Next...Next...